มาตรา ๗๓๓ ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
คำพิพากษาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612/2559
แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานก่อนก็ตาม แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ และบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองได้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนอง จึงเป็นการฟ้องบังคับจำนองด้วย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาจำนองไม่มีข้อตกลงกันว่า หากโจทก์ผู้รับจำนองเอาทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้แก่ผู้รับจำนองโดยครบถ้วนอันเป็นการตกลงยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 733 ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ โจทก์ไม่อาจขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2559)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2558
ข้อตกลงตามสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ผู้จำนองจะชำระส่วนที่ขาดจนครบ แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะผิดไปจากบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 733 ก็ตาม แต่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และข้อตกลงตามบันทึกต่อสัญญาจำนองที่กำหนดว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดในส่วนที่ขาดหากบังคับจำนองแล้วไม่พอชำระหนี้ก็เป็นไปตามปกติประเพณีของสัญญาจำนอง ซึ่งจำเลยที่ 3 รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างทราบดีอยู่แล้ว จะถือว่าโจทก์ได้เปรียบในการต่อรองในการปฏิบัติตามสัญญาและจำเลยทั้งสามต้องรับภาระหนักกว่าโจทก์มากตามความใน พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 10 (1) (3) และ (4) หาได้ไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15363/2557
กรณีหนี้จำนองมีจำนวนน้อยกว่าหนี้ประธาน หากเอาทรัพย์จำนองหลุดและทรัพย์สินนั้นมีราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ เงินยังขาดอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาดนั้น แต่ในส่วนที่เกินกว่าวงเงินจำนอง ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ประธานต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวนต่อไป ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับโจทก์ จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากร 593,750 บาท จากหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งเป็นหนี้ประธาน 1,255,291.40 บาท โดยไม่มีข้อตกลงยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 733 ถ้านำที่ดินของจำเลยที่ 5 ขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า 593,750 บาท เงินยังขาดจากจำนวน 593,750 บาท อยู่เท่าใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในส่วนของจำนวนเงินตามสัญญาจำนองที่ยังขาดอยู่ แต่หากนำที่ดินของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิมากกว่า 593,750 บาท เงินส่วนที่เกินจากจำนวน 593,750 บาท โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 5 เนื่องจากเกินวงเงินจำนองที่จำเลยที่ 5 มีเจตนาทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 สำหรับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ในส่วนที่เกินจำนวน 593,750 บาท ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินซึ่งเป็นหนี้ประธานนั้น จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไป ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เพราะเป็นความรับผิดต่างหากจากสัญญาจำนองในหนี้ค่าภาษีอากรที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14806/2556
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ยืมและบังคับจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมิได้ตกลงยกเว้นความใน ป.พ.พ. มาตรา 733 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดหลังจากการบังคับจำนอง และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยตามมาตรา 698 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2551
ป.พ.พ. มาตรา 733 ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จึงใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 4,200,000 บาท โดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันการกู้เงิน ต่อมาจำเลยกู้เงินโจทก์อีกโดยได้ทำบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 เป็นเงิน 3,500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองและบังคับจำนองโดยคำขอท้ายฟ้องระบุว่า ถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์แสดงว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยประสงค์จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์ที่จำนองเท่านั้น มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญ สัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวไม่มีข้อความว่า หากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 733
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8260/2550
มาตรา 733 แห่ง ป.พ.พ. เป็นบทบัญญัติสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณีโดยเฉพาะ และมิได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคม จึงไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์อาจตกลงกับจำเลยเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2550
สัญญาจำนองที่ดินระหว่างกรมสรรพากรโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 733 กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว คือ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ทั้งมาตรา 733 มิได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2900/2550
จำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจจัดการจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ เพื่อประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 และทำสัญญากู้ยืมเงินโดยให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย สอดคล้องกับสัญญาจำนองที่ดินข้อ 1 ซึ่งมีข้อความระบุว่า คู่สัญญาให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ได้สิ้นเชิงอย่างหนี้สามัญ การทำข้อตกลงตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 อันเป็นการตกลงกันเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 733 บัญญัติไว้ เพื่อให้มีผลบังคับกันว่าจำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง จึงเป็นการที่จำเลยที่ 2 ได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3
|